ไทยนับเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีเอกลักษณ์และมีประเพณีพื้นบ้านพื้นถิ่นในแต่ละภูมิภาคที่สวยงามมหัศจรรย์ อย่างเช่นที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามว่า “เมืองช้าง” และวันนี้หยกจะพาทุกคนไปรู้จักกับประเพณีที่ไม่ค่อยมีใครได้เห็น นั่นก็คือ “ประเพณีบวชนาคช้าง”
“ประเพณีบวชนาคช้าง” นับเป็นอีกหนึ่งประเพณี ที่มีเอกลักษณ์ และถูกจัดขึ้นที่บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวกูย หรือ ชาวกวย ซึ่งเป็นชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตระหว่างคนกับช้าง ที่ได้สืบทอดวิถีชีวิตจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี
การบวชนาคช้างไม่ได้เป็นการนำช้างมาบวชนะคะ แต่เป็นการบวชของลูกผู้ชายที่มีอายุครบ 20 ปี ที่อยู่ในหมู่บ้านละแวกเดียวกันค่ะ อีกทั้ง ยังมีขั้นตอนในการดำเนินพิธีที่แตกต่าง ซึ่งสามารถเห็นได้แค่ที่บ้านตากลางแห่งเดียวเท่านั้นค่ะ ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวกูยแล้ว หากลูกหลานคนใดต้องการจะบวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ ไม่ว่าจะออกไปทำงานต่างถิ่นที่ใด ก็ต้องกลับมาบวชที่บ้านตากลางแห่งนี้เท่านั้น หากบวชที่อื่นก็ไม่ถือว่าการบวชนั้นสำเร็จค่ะ ดังนั้นประเพณีนี้ จึงเป็นประเพณีสำคัญของทุกๆ คนในหมู่บ้าน
โดยประเพณีบวชนาคช้างจะถูกจัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 13-15 ค่ำเดือน 6 ของทุกๆ ปี ค่ะ และการอุปสมบทนั้น เริ่มจากการปลงผมนาค แล้วเข้าสู่ปะรำพิธีบายศรีสู่ขวัญทำขวัญนาค โดยผู้ที่เข้าบวชจะใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว ห่มผ้าหลากสีสัน นุ่งโสร่งผ้าไหม ใส่เครื่องประดับเงินหรือทอง สวมกระโจมหรือชฎาบนศีรษะ อันเป็นความปลาบปลื้มใจของพ่อแม่ที่เห็นลูกหลานได้บวชเรียนสืบทอดพระพุทธศาสนาค่ะ
และหลังทำขวัญนาคแล้ว ก็มีการจัดเลี้ยงฉลองเหมือนงานบวชนาคทั่วๆไปเลยค่ะ และการบายศรี สู่ขวัญนั้นนิยมทำเป็นคู่ เพื่อความเป็นสิริมงคลค่ะ หลังจากนั้น ก็จะมีการแห่นาค โดยนาคจะนั่งมาบนหลังช้าง ที่มีการตกแต่งอย่างสวยงามค่ะ แล้วก็แห่มารวมกันก่อนที่จะเคลื่อนขบวนช้าง ซึ่งมีจำนวนหลายสิบเชือก ที่เจ้าของช้างหรือควาญช้างจะพากันแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามอลังการไม่แพ้นาคเลยค่ะ
แล้วหลังจากนั้น ก็เดินขบวนไปยัง ศาลเจ้าพ่อวังทะลุ หรือ “หญ่าจู๊” ซึ่งเป็นภาษาที่ชาวกูยเรียกกัน ไปทำพิธีขอขมาลาโทษบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ค่ะ และในระหว่างที่มีการเคลื่อนขบวนแห่นาคช้าง จะมีการร้องรำทำเพลงเปิดเครื่องเสียง หรือตีกลองยาวกันอย่างครึกครื้นสนุกสนาน ซึ่งชาวกูยมีความเชื่อกันว่า การบวชนาคช้างนี้ ถ้าจะให้ได้ชื่อเสียงหรือได้บุญมากๆ ต้องขี่ช้างแล้วแห่ไปเป็นระยะไกลๆค่ะ
นับได้ว่าประเพณีบวชนาคช้างนั้น เป็นประเพณีที่มีทั้งความสวยงามและยิ่งใหญ่ อีกทั้งยังมีเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถชมได้ที่ไหน และคู่ควรกับการอนุรักษ์รักษาไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นประเพณีพื้นบ้านอันงดงามที่บรรพบุรุษสร้างไว้ค่ะ
#หยกเล่าเรื่อง #influencerเล่าเรื่อง